แนวทางการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยสำหรับคนพิการ
ดาวน์โหลดที่นี่
1. ความเป็นมาและความสำคัญ
ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากร จำนวน 65.6 ล้านคน และในจำนวนประชากรดังกล่าวนั้น เป็นคนพิการรวมอยู่ด้วยและจากสถิติการจดทะเบียนคนพิการ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2555 ปรากฏว่า มีผู้มาขอจดทะเบียนจำนวน 1,239,307 คน แต่คนพิการเข้าสู่ระบบโรงเรียนเพียง 276,129 คน จำนวน ที่เหลือเป็นคนพิการที่อยู่นอกระบบโรงเรียน ซึ่งจะมีลักษณะความพิการอย่างน้อย 1 ใน 3 ของลักษณะความพิการ อันเป็นปัญหาในการทำกิจกรรมในการดูแลตนเอง ทำกิจวัตรส่วนตัว หรือมีความบกพร่อง ทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ดังนั้น เพื่อให้คนพิการได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป จำเป็นต้องมีการส่งเสริม สนับสนุนให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถช่วยเหลือตนเองได้โดยไม่ต้องเป็นภาระของครอบครัว ชุมชน สังคม อันเป็นอุปสรรคหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาให้กับคนพิการได้ออกกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ ที่เกี่ยวกับคนพิการ เพื่อเปิดโอกาสให้คนพิการได้รับสิทธิประโยชน์และโอกาสด้านต่าง ๆ เท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 54 ระบุว่า “บุคคลซึ่งพิการหรือทุพพลภาพมีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ และความช่วยเหลือ ที่เหมาะสมจากรัฐ บุคคลวิกลจริตย่อมได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ” และตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) หมวด 2 สิทธิและหน้าที่ทางการศึกษา มาตรา 10 วรรคสอง ได้ระบุสาระสำคัญโดยรวมเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ด้านการศึกษาของคนพิการไว้ว่า “ การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการ หรือทุพพลภาพ หรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ หรือไม่มีผู้ดูแลคนพิการ หรือด้อยโอกาส ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ และให้จัดตั้งแต่แรกเกิดหรือเมื่อพบความพิการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิได้รับ สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการและความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษาตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ที่กำหนดในกฎกระทรวงฯ ” และที่สำคัญอย่างยิ่งยังได้มีการตราพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.2551 ไว้เป็นกรณีเฉพาะอีกด้วย โดยมีสาระสำคัญของพระราชบัญญัติดังกล่าวตามหมวด 1 สิทธิและหน้าที่ทางการศึกษา มาตรา 5 ที่ระบุไว้ว่า “ (1) คนพิการมีสิทธิได้รับการศึกษาโดยไม่ เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความพิการจนตลอดชีวิต พร้อมทั้งได้รับเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการและความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา (2) เลือกบริการทางการศึกษา สถานศึกษา ระบบและรูปแบบการศึกษา โดยคำนึงถึงความสามารถ ความสนใจ ความถนัดและความต้องการจำเป็นพิเศษของบุคคลนั้น (3) ได้รับการศึกษาที่มีมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษา รวมทั้งการจัดหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ การทดสอบทางการศึกษาที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของคนพิการแต่ละประเภทและบุคคล”
ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นหน่วยงานของรัฐอันมีพันธกิจโดยตรง ตามระเบียบกฎหมายดังกล่าวแล้วนั้น ได้ดำเนินภารกิจเกี่ยวกับการจัดการศึกษา โดยตระหนักถึงความสำคัญและสิทธิของคนพิการในการรับบริการทางการศึกษา และมุ่งมั่นเพื่อให้คนพิการทุกคนได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ และเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ โดยส่งเสริมสนับสนุนและดำเนินการให้คนพิการได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและเสมอภาค ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งประสานให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมในการบริหารและจัดการศึกษาสำหรับ คนพิการ และเพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้หน่วยงานและผู้มีส่วนร่วมได้ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกัน จึงได้กำหนดแนวทางและนโยบายปฏิรูปการศึกษาสำหรับคนพิการในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2552 -2561) ให้คนพิการได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและเสมอภาค อย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาของ แต่ละประเภทความพิการในทุกระบบและรูปแบบการศึกษา ด้วยการกระตุ้นส่งเสริมให้ทุกหน่วยงาน ในสังกัดมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ โดยมียุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การขยายโอกาสและบริการทางการศึกษา
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการให้แก่หน่วยงานที่จัด
การศึกษาสำหรับคนพิการ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านคนพิการ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมสนับสนุนให้คนพิการ ครอบครัว ชุมชน องค์กรปกครองส่วน
ท้องถิ่น และองค์กรเอกชนร่วมกันพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ในการจัด
การศึกษา
ยุทธศาสตร์ที่ 5 การจัดหารายได้ (ระดมทุน)
ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาระบบกองทุน (การบริหารจัดการ)
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงต่อการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการที่อยู่นอกระบบโรงเรียน มีความตระหนักต่อภาระหน้าที่และบทบาทดังกล่าว จึงให้ความสำคัญต่อการจัดการเรียนรู้แก่คนพิการที่อยู่นอกระบบโรงเรียน และมุ่งมั่นดำเนินงานเพื่อสร้างโอกาสให้คนพิการได้รับการศึกษาที่เหมาะสมกับสภาพ ความพิการของแต่ละบุคคล จึงมอบให้ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกลุ่มเป้าหมายพิเศษ (ศกพ.) ดำเนินกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องเพื่อ ส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยสำหรับคนพิการ อย่างกว้างขวางทั่วถึงและครอบคลุมความพิการ ทั้ง 9 ประเภท คือ บุคคลที่มีความบกพร่องทางการเห็น บุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน บุคคลที่มี ความบกพร่อง ทางสติปัญญา บุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหวหรือสุขภาพ บุคคลที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ บุคคลที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา บุคคลที่มีความบกพร่อง ทางพฤติกรรม หรืออารมณ์ บุคคลออทิสติก และบุคคลพิการซ้อน โดยนำยุทธศาตร์ของกระทรวงศึกษาธิการที่สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ตามยุทธศาสตร์ที่ 1 - 4 มาเป็นกลยุทธ์ในการดำเนินงาน เพื่อให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ครอบครัว ชุมชนและบุคคล ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาทุกระดับ ทุกประเภท เป็นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนพิการให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในครอบครัวและสังคมได้อย่างมีความสุข ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการนอกระบบโรงเรียนในภาพรวมของ สำนักงาน กศน. เป็นการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยควบคู่กัน ซึ่งการศึกษานอกระบบเป็นการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานคู่ขนานกับการศึกษาในระบบโรงเรียน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น ถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สำหรับการศึกษได้จัดการศึกษาต่อเนื่องเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต พัฒนาทักษะอาชีพ และการศึกษาตามอัธยาศัยตามวิถีการดำเนินชีวิตทั่วไป และเพื่อให้การจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยสำหรับคนพิการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์ต่อนักศึกษาพิการ สำนักงาน กศน.จึงกำหนดแนวทางการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยสำหรับคนพิการนี้ขึ้น เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานของครูผู้สอนคนพิการ บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ ได้นำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับโอกาสและสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิผล
เว็บครู กศน. ดอทคอม www.krukorsornor.com เว็บไซต์เล็กๆ ที่มุ่งหวังให้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ในการ ทำงานและใช้เป็นช่องทางในการรับข่าวสารแลกเปลี่ยนข่าวสารที่ทันสมัย เพื่อนำประสบการณ์ที่ได้แลกเปลี่ยนมาใช้ในการปฎิบัตงาน